วิธีการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์
การเลือกหาเฟอร์นิเจอร์ ก่อนอื่นต้องดูว่าเราต้องการเฟอร์นิเจอร์ประเภทไหน ซึ่งในที่นี้จะแนะนำถึงเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้วัสดุจากไม้ที่นิยมใช้คือ ไม้ยางพารา ไม้เนื้อแข็ง ไม้อัดสลับชั้น ไม้พาร์ทิเคิล ไม้M.D.F.
1. ไม้ยางพารา โดยส่วนมากจะผ่านการอบไล่ความชื้น และอาบน้ำยาป้องกันมอด, ปลวก, แมลงกินไม้ โดยมากมักนิยมนำมาใช้ทำผลิตภัณฑ์เตียงนอน, โต๊ะ, เก้าอี้, ของเล่นเด็ก และของใช้ในครัว และบนโต๊ะอาหาร นิยมทำสีธรรมชาติ หากทำสีย้อมต่างๆ ก็จะทำให้ราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ชนิดนี้วัตถุดิบส่วนมากจะใช้ภายในประเทศ โดยเฉพาะแถบภาคใต้จะมีมาก กับทางแถวภาคตะวันออก เช่น ระยอง เป็นต้น
ซึ่งในปัจจุบันผู้ผลิตภายในประเทศไทยจะประสบปัญหา ถูกสินค้าจากประเทศจีนเข้ามาตีตลาดรวมถึงแย่งส่วนแบ่งตลาดส่งออกด้วย เนื่องจากสินค้าจากจีนมีต้นทุนต่ำ และปัจจุบันก็มีการออกแบบที่สวยงามไม่แพ้ของประเทศไทย
2.ไม้สัก นำมาผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้มากกว่าไม้ชนิดอื่นๆ เช่น เตียงนอน ตู้เสื้อผ้า โต๊ะเครื่องแป้ง ตู้วางทีวี ฯ โดยมากไม้สักที่จะนำมาทำเฟอร์นิเจอร์จะมีอายุมาก 50 ปีขึ้นไป คือเนื้อไม้จะออกสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้มโทนสีจะระดับเดียวกัน ซึ่งเรามักจะรู้จักกันในชื่อ “สักทอง” จะมีราคาจะสูง ปัจจุบันต้องนำเข้าจากต่างประเทศในรูปของไม้ซุง หรือไม้แปรรูป โดยมากจากประเทศพม่า ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยจะมีไม้สักอ่อนอายุประมาณ 10 – 20 ปี ที่อนุญาตให้ภาคเอกชนปลูก และตัดได้ ซึ่งเนื้อไม้จะมีโทนออกสีน้ำตาล และติดกระพี้จะออกสีครีมทั่วทั้งเนื้อไม้ ราคาจะถูกกว่าไม้สักทอง แต่ลวดลายจะสวยสู้กันไม่ได้ ปัจจุบันนิยมทำสีย้อมให้ดูเข้มขึ้น เพื่อให้ขายได้ราคาสูง
3.ไม้อัดสลับชั้น หรือที่พูดกันทั่วๆ ไปว่า “ไม้อัด” วิธีการผลิตจะนำไม้ซุงมาปอกเป็นแผ่นไม้บาง (veneer) หรือนำไม้ซุงมาเปิดปีกไม้ออกให้เป็นสี่เหลี่ยม แล้วเข้าเครื่องฝาน จะได้แผ่นไม้บางผ่านการอบไม้ให้ความชื้นในแผ่นไม้บางเป็นไปตามที่โรงงาน กำหนด แล้วนำมาเรียงสลับเสี้ยนไม้เพื่อให้เกิดความเหนียวและแข็งแรง โดยใช้กาวอัดติดกันระหว่างแผ่น เมื่อได้ความหนาที่ต้องการแล้วนำเข้าเครื่องอัดให้กาวแห้งสนิท ขนาดทั่วไปที่ใช้กันคือ กว้าง 4 ฟุต ยาว 8 ฟุต ความหนาตั้งแต่ 3.8 – 30.0 มิลลิเมตร ส่วนแผ่นไม้บางที่ปิดแผ่นหน้าจะเห็นเป็นลวดลายไม้ชนิดต่างๆ เช่น หน้าไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้มะค่า ไม้ยาง ไม้บีช ไม้แอช ฯ
การนำไม้อัดมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ได้เกือบทุกประเภท เช่น ตู้ โต๊ะ เตียง ของใช้ในบ้าน ฯ คือจะมีไม้จริงทำเป็นโครงขึ้นมาก่อนแล้วนำไม้อัดประกอบเข้าไปทั้งสองด้าน ภาษาช่างจะเรียกเฟอร์นิเจอร์แบบนี้ว่า “เพลาะโครง” (Frame work) ซึ่งมองดูจะเห็นคล้ายกับผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นใช้ไม้หนา ลวดลายของไม้อัดก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้ขายกำหนดราคาได้ เพราะถ้าเป็นแผ่นลายไม้สัก ผู้ขายอาจจะพูดรวมไปว่าตู้ลูกนี้ทำจากไม้สัก (เพียงแต่แผ่นหน้าไม้อัดที่เป็นไม้แผ่นบางสักเท่านั้น)
4.ไม้พาร์ทิเคิลปิดผิว คือการนำเศษวัสดุที่นำไปทำอย่างอื่นไม่ได้แล้ว จึงนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็น แผ่นชิ้นไม้อัด ซึ่งจะมีวัสดุอยู่ประมาณ 3 ชนิด คือ
1. ชานอ้อย ที่เข้าเครื่องหีบเอาน้ำตาลออกหมดแล้ว นำชานอ้อยมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ ผ่านเครื่องอบแห้งตามที่กำหนด นำมาผสมกาวประเภทเรซินฟูมาดิฮายด์ แล้วอัดเป็นแผ่นมาตรฐานที่นิยมกันคือ กว้าง 4 ฟุต ยาว 8 ฟุต ความหนามีหลายขนาดตั้งแต่ 6 มิลลิเมตร – 32 มิลลิเมตร
2. เศษไม้ยางพารา ได้จากกิ่ง ก้าน ของต้นยางพาราที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งลำต้นจะนำไปทำเฟอร์นิเจอร์ ส่วนกิ่งก้านที่ทำเฟอร์นิเจอร์ไม่ได้ จะนำไปทำเป็นแผ่นพาร์ทิเคิล ขั้นตอนเดียวกันกับชานอ้อย
3. ไม้ยูคาลิปตัส ใช้ได้ทั้งต้น อายุตั้งแต่ 3-15 ปี นำมาสับเป็นชิ้นไม้สับ ผ่านการอบแห้ง ผสมกาว อัดเป็นแผ่นขั้นตอนเหมือนกับทั้ง 2 แบบข้างต้น
ซึ่งพาร์ทิเคิลบอร์ดนี้ จำเป็นต้องมีวัสดุอื่นปิดผิวหน้า เพราะแผ่นไม้ที่ผสมกาวอัดความหนาแน่นออกมาแล้วผิวหน้ายังหยาบไม่มีลวดลายของ ไม้ให้เห็น จึงต้องมีวัสดุปิดผิวหน้าเช่น กระดาษที่เป็นลายไม้ชนิดต่างๆ หรือประเภทแผ่นเมลามีนสีต่างๆ เมื่อนำไปผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ ราคาจะถูกหรือแพงอยู่ที่วัสดุปิดผิวด้วยเช่นกัน
5.แผ่นใยไม้อัดหนาแน่นปานกลาง (Medium Density Fiber Board = M.D.F.) ขั้นตอนการผลิตคล้ายกับแผ่นชิ้นไม้อัด แต่เพิ่มขั้นตอนต่อจากการทำชิ้นไม้สับแล้ว จะนำชิ้นไม้ไปตุ๋นให้นิ่มแล้วนำเข้าเครื่องบดให้ละเอียดกรองเอาแต่เส้นใย (Fiber) ผ่านความร้อนอบให้เส้นใยแห้งตามที่ต้องการ เข้าเครื่องผสมกับกาว อัดออกมาเป็นแผ่นขนาดกว้าง 4 ฟุต ยาว 8 ฟุต ความหนาตั้งแต่ 3 – 32 มิลลิเมตร แผ่น M.D.F. เป็นวัสดุที่คล้ายไม้จริง สามารถใช้เครื่องมือธรรมดา เช่น เลื้อยปื้นตัด เจาะ เซาะ ไส และพ่นสีบนแผ่นไม้ได้เลย ผลิตภัณฑ์จะมีคุณภาพมากกว่าผลิตจากไม้พาร์ทิเคิล
สุดท้ายเราจะมาดูกันถึงวิธีเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์แบบง่ายๆ ว่า ชนิดไหนเป็นไม้จริง หรือไม้เพลาะโครง พาร์ทิเคิล หรือ M.D.F.
วิธีการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ ที่ใช้วัตถุดิบหลายๆ ประเภท
1. วัตถุดิบที่ใช้ไม้อัด โดยให้ดูด้านหน้า ด้านข้าง ในส่วนที่ทำสีประเภทแลคเกอร์ ถ้าเป็นประเภทตู้โชว์ ตู้เสื้อผ้า โต๊ะทำงาน หรืออื่นๆ มองภายนอกมองคล้ายไม้จริง (solid wood) ให้ท่านงอนิ้วชี้แล้วทดลองเคาะไปที่ตู้โชว์หรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องการจะซื้อ เคาะดูหลายๆ ที่ ถ้าเสียงที่เคาะหนักแน่นแสดงว่าเป็นแผ่นไม้จริง หรือเป็นประเภทไม้ชนิดอื่นที่ไม่ใช่ไม้อัด ถ้าเสียงดังโปร่งๆ คล้ายเสียงเคาะกลองแสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นผลิตแบบเพลาะโครง ผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นจะมีน้ำหนักเบา รูปร่างสวยงาม
2. ข้อสังเกตสำหรับวัตถุดิบใช้ไม้พาร์ทิเคิล หรือไม้เอ็ม.ดี.เอฟ. สังเกตได้ตามขอบของไม้ถ้าเป็นไม้พาร์ทิเคิลจะสังเกตเห็นถึงวัสดุที่นำมาปิด ผิว ตามขอบหรือสันของไม้จะต้องมีวัสดุที่ทำเป็นแถบมาปิด ทำให้ไม่เห็นเสี้ยนไม้ ส่วนเอ็ม.ดี.เอฟ.มักจะนิยมทำสีเดียว นิยมการพ่นสีหลายเที่ยวและพ่นทับหน้าอีก
ที่มา http://goodchair.wordpress.com
Posted in ทิป&เทคนิค By Yuyoo Chanita